องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกชูกระแสสังคมต่อต้านการเลี้ยงสัตว์ป่า

จากข่าวคลิปดัง พาสิงโตนั่งรถชมวิว องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก World Animal Protection เห็นถึงกระแสโซเชียลมีเดียที่พร้อมจับตาและตรวจสอบการเลี้ยงสัตว์ป่า สะท้อนถึงความตระหนักของสังคมที่ร่วมต่อต้านการเลี้ยงสัตว์ป่าซึ่งสอดคล้องกับการทำงานขององค์กรฯ ที่เชื่อมั่นว่า “สัตว์ป่าควรมีชีวิตอยู่ในป่า และไม่ควรถูกนำมาเป็นสัตว์เลี้ยง” สัตว์ป่าเกิดมาพร้อมสัญชาตญาณสัตว์ป่าที่รักอิสระจึงไม่เหมาะที่จะถูกเอามาเลี้ยงไว้ที่บ้านหรือสถานที่จำกัด ซึ่งส่งผลให้สัตว์ป่าเหล่านี้ถูกจำกัดไม่ให้สามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ ทำให้สัตว์ป่าเหล่านี้เกิดความเครียด และส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ อีกทั้งยังต้องเผชิญความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อจากโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonoses) ดังที่เคยเกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019

นิค สจ๊วร์ต ผู้อำนวยการฝ่ายแคมเปญสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า “เหตุการณ์ทารุณกรรมสัตว์ป่าครั้งนี้ สร้างโอกาสให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายไทยได้อย่างเต็มที่ เพราะสัตว์ป่าไม่ใช่สิ่งของ สิงโตและสัตว์ป่าก็ต่างมีความรู้สึก ปัจจุบันนี้สัตว์ป่าถูกเพาะพันธุ์และขายเพื่อหากำไร ทั้งเพื่อนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงรวมถึงเพื่อกิจกรรมล่าสัตว์ป่า การนำสัตว์ป่ามาเป็นส่วนประกอบของยาแผนโบราณ นำซากสัตว์ป่ามาโชว์ ฯลฯ องค์กรฯ กำลังเรียกร้องให้ยุติการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อหากำไร และเหตุการณ์นี้ตอกย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลทั่วโลกจะต้องเร่งดำเนินการและปกป้องสัตว์ป่าจากการแสวงหาผลกำไรที่โหดร้าย”

“องค์กรฯ และผู้สนับสนุนของเราไม่สนับสนุนการผสมพันธุ์สัตว์ป่าเชิงพาณิชย์ ตลอดจนการนำสัตว์ป่าเหล่านั้นมาใช้งานอย่างโหดร้ายทารุณ ผิดธรรมชาติของสัตว์ป่า ที่เห็นได้ชัดคือการแสดงโชว์สัตว์ป่าตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวต่างชาติรวมไปถึงคนไทยต่างตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดกระแสต่อต้านการเลี้ยงสัตว์ป่าที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง”

องค์กรฯ เห็นถึงความใส่ใจ และการทำงานอย่างรวดเร็วของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อตรวจยึดสิงโตสองตัวที่ปรากฎในข่าว อย่างไรก็ตามองค์กรฯ ยังคาดหวังที่จะได้เห็น กรมอุทยานแห่งชาติฯ เร่งเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อให้สาธารณชนได้ตระหนักถึงบทลงโทษของการครอบครองสัตว์ป่าโดยผิดกฎหมาย เข้าใจขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนได้เห็นสภาพความเป็นอยู่และสวัสดิภาพสัตว์ป่าที่ถูกยึดตามขั้นตอนทางกฎหมาย ที่เหมาะสมกับสัญชาตญาณของสัตว์ป่า

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ที่ www.worldanimalprotection.or.th

เครดิตภาพถ่าย World Animal Protection / Roberto Vieto และ World Animal Protection / Aaron Gekoski 

Facebook Comments Box

About The Author