TCMA ร่วม COP29 ชูความก้าวหน้า ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เพิ่มโอกาสเข้าถึงเงินทุนสีเขียว เสริมแกร่งแผนไทยสู่เป้าหมาย Net Zero 2050
TCMA ร่วมเวที COP29 ชูความก้าวหน้า 1 ปี ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ ผนึกความร่วมมือองค์กรในประเทศและต่างประเทศ เร่งลงมือทำร่วมกัน ผสาน ‘นโยบาย-เงินทุน-เทคโนโลยี-ความร่วมมือ’ เพิ่มโอกาสไทยเข้าถึงเงินทุนสีเขียว หนุนขับเคลื่อนโครงการสู่เป้าหมายปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ปี 2050
ดร. ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย หรือ TCMA เปิดเผยว่า TCMA เข้าร่วมการประชุม COPต่อเนื่องเป็นปีที่สาม โดยสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานเป็นเจ้าภาพ COP 29 ระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงบากู ภายใต้แนวคิด In Solidarity for a Green World ประเทศไทย นำโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมประชุม และร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จัดกิจกรรมเสวนาและนิทรรศการ Thailand Pavilion แสดงผลการดำเนินงานของประเทศไทย ครอบคลุม Climate Policy, Climate Technology, Climate Action, Climate Finance
การประชุม COP29 นี้ TCMA ร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาสและสิ่งแวดล้อม Global Cement and Concrete Association (GCCA) และ UNIDO ร่วมกันถอดบทเรียนต้นแบบนิเวศนวัตกรรมความร่วมมือ และการร่วมกันลงมือทำเชิงพื้นที่ พร้อมนำเสนอความก้าวหน้า 1 ปี ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย ในการเสวนา ‘SARABURI SANDBOX: Leading Thailand’s Pathway to Low-Carbon City’ ที่ Thailand Pavilion และ GCCA Pavillion แสดงบทบาทในการเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมของไทย ไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่สามารถแข่งขันได้และยั่งยืน
1 ปีแห่งการร่วมมือกันลงมือทำเชิงพื้นที่ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ ในรูปแบบ Public-Private-People Partnership (PPP) TCMA ได้ร่วมทำงานอย่างต่อเนื่องกับจังหวัดสระบุรี นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี และหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ให้มีความก้าวหน้า เช่น โครงการก่อสร้างเปลี่ยนไปใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมากกว่า 80% อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ใช้เชื้อเพลิงทดแทนและพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเป็น 26% โครงการนำร่องปลูกพืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์ ใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ โครงการนำร่องพลังงานทดแทน Solar Carport ที่ศาลากลางจังหวัดสระบุรี โครงการนำร่องจัดการขยะชุมชนโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โครงการนำร่องป่าชุมชนเพิ่มพื้นที่สีเขียว 38 แห่ง เป็นต้น
นอกจากนี้ TCMA เชื่อมโยงความร่วมมือจากหน่วยงานต่างประเทศเข้ามาสนับสนุนและร่วมดำเนินงาน เช่น มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันศึกษาวิจัยศักยภาพเชิงพื้นที่ในการผลิตพลังงานหมุนเวียน เพื่อนำไปสู่การวางแผนและลงมือปฏิบัติต่อไป GCCA สนับสนุนการสร้างพันธมิตรแลกเปลี่ยนความรู้กับประเทศต่างๆ เชื่อมโยงนโยบายความร่วมมือระดับโลกในการขับเคลื่อนด้านต่างๆ สอดคล้องตาม Thailand 2050 Net Zero Cement and Concrete Roadmap รวมถึงเชื่อมโยงแหล่งทุนเพื่อให้เกิดการลงมือทำ
“การมีแผนงานที่มีความชัดเจน ทุกภาคส่วนร่วมกันสร้าง และการจับคู่หุ้นส่วนที่สมบูรณ์แบบเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง เป็นองค์ประกอบสำคัญ โดยมีทั้งองค์กรระหว่างประเทศที่มีวิสัยทัศน์ และองค์กรระดับประเทศที่มีพันธกิจในการลดคาร์บอน ตลอดจนอุตสาหกรรมระดับท้องถิ่นที่มีโครงการและความคิดริเริ่ม การจะสำเร็จได้ต้องมีหุ้นส่วนที่พร้อมจะทุ่มเท โดยสิ่งที่ TCMA และสมาชิกผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยทำนั้น น่าทึ่งและสำคัญมาก และเป็นประเทศแรกที่ทำได้ โดย GCCA ช่วยสนับสนุนเพื่อให้แน่ใจว่าเป้าหมายนั้นชัดเจน ขณะที่ UNIDO ประสานสร้างความเข้าใจและเชื่อมโยงความต้องการของ TCMA กับแหล่งทุนสนับสนุนที่สอดคล้องกัน” เสียงสะท้อนต่อความก้าวหน้า‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ จาก นายโธมัส กิลโย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GCCA
“ขณะนี้ได้เห็นถึงความก้าวหน้าที่ดีของ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ แต่ประเทศอื่นก็ขับเคลื่อนโครงการลดคาร์บอนต่างๆจำนวนมาก รวดเร็ว และมีความก้าวหน้าอย่างมาก จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเร่งเดินหน้า การเร่งลงมือทำร่วมกันจากทุกภาคส่วนมีความสำคัญเป็นอย่างมาก การสอดประสานนโยบายของหน่วยงานภาครัฐและปรับแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ การดำเนินโครงการคาร์บอนต่ำโดยหน่วยงานภาคเอกชน และการส่งเสริมเข้ามามีส่วนร่วมของภาคชุมชน รวมไปถึงความร่วมมือและการสนับสนุนจากต่างประเทศ ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ และการสนับสนุนเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว จะช่วยให้ไทยมีศักยภาพการขับเคลื่อนเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่สามารถแข่งขันได้และยั่งยืน” ดร. ชนะ กล่าว