“Generative AI” อนาคตการศึกษาไทยยุค EdTech
ในช่วงปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในหลายๆ มิติ คือ “AI หรือปัญญาประดิษฐ์” ที่วันนี้ไม่เพียงทำมาช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานในรูปแบบเครื่องจักรสมองกลเท่านั้น แต่ยังถูกพัฒนานำมาใช้สร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างมีคุณภาพ ไม่ต่างจากมนุษย์เลยทีเดียว ที่สำคัญสามารถเข้าถึงและใช้งานง่ายมากขึ้น ไม่จำกัดแค่คนสาย Tech เท่านั้น เทคโนโลยี AI ที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ทั้งงานเขียน งานศิลปะ ตลอดจนสร้างคลิป VDO ภาพเเละเสียงได้เอง ราวกับมุนษย์เป็นผู้สร้างนี้ เราเรียกว่า Generative AI หรืออธิบายโดยสรุปอย่างเข้าใจง่ายคือ เป็นเทคโนโลยีที่สร้างข้อมูลใหม่ขึ้นมาได้แบบอัตโนมัติ อาทิ ข้อความ ภาพนิ่ง วิดีโอ และสามารถเรียนรู้ ด้วยตัวเองได้โดยอิงตามข้อมูล หรือ Keyword ที่มนุษย์ป้อน ซึ่งปัจจุบันนี้ หลากหลายวงการได้นำ Generative AI มาใช้งานในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ โดยใช้เวลาไม่นาน ประหยัดเวลา ทรัพยากร และสามารถปรับแก้เนื้อหาได้ตามต้องการกันอย่างแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เว้นแม้แต่ วงการ “การศึกษาไทย” ก็ได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ด้วย
แม้ Generative AI จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการสร้างสรรค์ผลงาน การทำงาน การเรียน การสอน และอีกหลายๆ กิจกรรม สะดวกขึ้น แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยและความโปร่งใส จนถึงความถูกต้องของเนื้อหาที่ผลิต อีกทั้งยังมีข้อกังวลด้วยว่าการมาของ Generative AI อาจเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของวงการการศึกษาไทยหรือไม่ และผู้สอน ผู้เรียน หรือแม้แต่ผู้ปกครอง ในวันนี้ควรเตรียมตัวอย่างไร
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) โดยศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance Clinic by ETDA หรือ ศูนย์ AIGC) จึงจัดเสวนา Generative AI and the Future of Education พาทุกคนไปมองอนาคตการศึกษาไทยกับการใช้ Generative AI ที่มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จากภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาชั้นนำจากทั่วประเทศมาแลกเปลี่ยนมุมมองกัน ได้แก่ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส ETDA คุณนรพล ดีช่วย ประธานหลักสูตร สาขาวิชาเทคโนโลยีมีเดีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คุณศรีสุดา วินิจสุวรรณ์ ผู้ก่อตั้ง S.Sustainovate และที่ปรึกษาด้าน Digital Communication และ Storytelling หลายองค์กรชั้นนำ คุณณัฐธีร์ โกศลพิศิษฐ์ พิธีกรและผู้ประกาศข่าว ช่อง MONO29 และเจ้าของเพจพ่อม้าน้ำและแม่หมีกริซลี มาร่วมพูดคุยเปิดอนาคตการศึกษาไทยในยุค EdTech เพื่อให้ได้ความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำ AI ไปใช้อย่างมีธรรมาภิบาล และตอบโจทย์มากที่สุด
- Generative AI นำมาใช้ในวงการ ‘การศึกษาไทย’ อย่างไรสู่การตั้งคำถาม ผู้สอน ผู้เรียน ผู้ปกครอง ต้องปรับตัว?
เทคโนโลยี Generative AI ได้นำมาประยุกต์ใช้ในวงการการศึกษาหลายรูปแบบ ตั้งแต่กลุ่มผู้สอน คุณครู อาจารย์ ที่ใช้ช่วยออกแบบแผนการสอน สื่อการสอน ใช้ตรวจสอบความถูกต้อง แทนวิถีเดิมที่อาจจะต้องไปค้นหาข้อมูลผ่านเว็บไซต์ Google หรือหลายๆ แหล่งข้อมูล ทำให้ประหยัดเวลาขึ้น หรือกลุ่มผู้เรียน นักเรียน นักศึกษา ซึ่งถือเป็นกลุ่ม Early Adopter หรือผู้เปิดรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงชอบทดลองก่อนใคร ก็นำ Generative AI มาช่วยในการค้นหาข้อมูล ทำการบ้าน ทำวิดีโอ ทำสไลด์นำเสนองาน หรือแม้แต่นำมาช่วยระดมไอเดียต่อยอดสร้างเป็นผลงานส่งให้ผู้สอน ช่วยแก้ปัญหาการคิดไอเดียไม่ออก
แม้จะมีประโยชน์และกลายมาเป็นผู้ช่วยสำคัญ แต่ก็เกิดคำถามตามมามากมายว่า หลังจากนำ Generative AI เข้ามาใช้แล้ว อาจารย์ยังคงจำเป็นหรือไม่ เด็กไม่ต้องทำการบ้านส่งแล้วหรือเปล่าอนาคตการศึกษาต่อไปจะเป็นเช่นไร ตลอดจนโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือกระทรวงการศึกษายังจำเป็นอยู่ไหม ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายของผู้สอน ผู้เรียน และผู้ปกครอง ต้องปรับตัว ตั้งรับให้เท่าทันเทคโนโลยี เริ่มที่ผู้สอน ต้องพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เน้นการสอนที่มุ่งให้ผู้เรียนเกิดการคิด ประยุกต์ใช้ข้อมูล มากกว่าการตอบแบบคัดลอกข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ผู้เรียน ต้องใช้งานอย่างมีความรับผิดชอบ รู้เท่าทันข้อมูลที่ได้มามีทักษะการตรวจสอบความถูกต้อง และรู้จักค้นหาคีย์เวิร์ดด้วยคำที่เหมาะสม และผู้ปกครอง ต้องพร้อมเปิดใจรับสิ่งใหม่และเรียนรู้ไปกับลูก ชี้แนะการใช้งานที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กรู้จักการใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์และมีความรับผิดชอบต่อสังคม
- แนวทางและการประเมินผลการเรียนยุค EdTech การเน้น ‘กระบวนการคิด’ ของเด็ก สำคัญกว่าผลลัพธ์วิถีเดิม
การนำ Generative AI มาช่วยสร้างสรรค์ผลงานในวงการการศึกษา เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่เกิดการตั้งคำถามเช่นกันว่า แล้วการประเมินผลการเรียนแบบวิถีเดิมต้องเปลี่ยนไปตามบริบทหรือไม่ ตัวอย่างเช่น ระหว่างเด็กที่ใช้เครื่องมือกับไม่ใช้เครื่องมือ Generative AI อาจารย์จะให้คะแนนอย่างไร เมื่อได้ผลลัพธ์ออกมาเหมือนๆ กัน นี่ไม่ใช่การตั้งคำถามแรกๆ เนื่องจากตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 การศึกษาไทยได้เปลี่ยนรูปแบบเป็นการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์มากขึ้น และให้เด็กทำข้อสอบที่บ้านได้ แต่สิ่งที่ตามมาคือ เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า เด็กหาคำตอบของข้อสอบด้วยวิธีการไหน ฉะนั้นการออกข้อสอบรูปแบบเดิม หรือการวัดผลแบบเดิมๆ อาจไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมที่สุดและอาจไม่สอดคล้องกับบริบทตอนนี้แล้ว นอกจากนี้ ยังมีการถกกันด้วยว่าหากมีการใช้ข้อมูลหรือคัดลอกบทความ จะให้เครดิตใครเป็นเจ้าของบทความหรืองานเขียนนั้นๆ เพราะปัจจุบันเริ่มมีบทความทางวิชาการที่แจ้งว่า เขียนโดย Generative AI แล้วเช่นกัน
ดังนั้น แนวทางและการประเมินผลการเรียนยุค EdTech ของสถาบันการศึกษาต่อเด็ก จึงควรเน้น Process มากกว่าเพียงแค่ Output คือ เน้นสนใจที่กระบวนการทำงาน การคิดของเด็กมากกว่าสนใจผลลัพธ์แบบเดิมๆ ว่าพวกเขามีวิธีคิดในการใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อสร้างประโยชน์ ต่อยอด สร้างสรรค์ผลงานต่อไปอย่างไร พร้อมสอนให้เด็ก ในฐานะผู้ใช้เครื่องมือต้องรู้จักรับผิดชอบต่องานที่ทำส่ง มีการวิเคราะห์ ตรวจสอบข้อมูลมากขึ้น ขณะที่ผู้สอน ต้องช่วยติดตามสอดส่อง สอนให้เด็กเรียนรู้วิธีการนำความรู้จากการใช้เครื่องมือมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โปร่งใส มีจริยธรรม เพราะเด็กยังด้อยความรู้และประสบการณ์ย่อมต้องการผู้รู้คอยแนะนำและชี้ทางไม่ต่างจากการเรียนการสอนรูปแบบเดิม
- การใช้ Generative AI ให้เกิดประโยชน์ สู่การสร้างความสำเร็จ ด้วย 3 Keys “เสริมทักษะ Soft Skill – ต่อยอดการใช้ AI – ใช้สร้างโอกาสใหม่”
แม้การมาของเทคโนโลยี Generative AI จะสร้างข้อกังวลให้ใครหลายๆ คน แต่ถ้าทุกคนรู้จักรู้เท่าทัน และใช้เป็น ก็ย่อมสามารถใช้ประโยชน์ สร้างโอกาสให้กับตนเอง รวมทั้งยกระดับและพัฒนาวงการการศึกษาไทยให้ก้าวทันโลกอนาคตได้ ซึ่งการใช้เทคโนโลยี Generative AI ให้ประสบความสำเร็จมี Key Success หรือกุญแจสำคัญ ได้แก่ 1. เสริมทักษะด้าน Soft Skill ควบคู่ทักษะทางดิจิทัล จะช่วยสร้างข้อได้เปรียบ เนื่องจากเทคโนโลยี AI ยังไม่สามารถทำวิชาเกี่ยวกับทักษะทางสังคมที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนได้ ยกตัวอย่างเช่น ด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ในบางส่วน ด้านการสื่อสารระหว่างบุคคล รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางร่างกาย 2. ต่อยอดทักษะการใช้ AI เป็น การมีทักษะการใช้ AI ที่ดี นอกจากจะช่วยลดเวลาทำงานได้แล้ว ยังทำให้ค้นพบอาชีพใหม่ได้ด้วย เช่น อาชีพ Prompt engineering ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบชุดคำสั่งที่กำลังมาแรงมากๆ ในขณะนี้ และ 3. ใช้ Generative AI สร้างโอกาสทางการศึกษาได้ เนื่องจากศักยภาพและเป้าหมายของเด็กต่างกัน หากใช้ AI มาสร้างโปรแกรมการเรียนการสอนที่เหมาะกับเด็กแต่ละกลุ่มได้ ก็จะช่วยสร้างมิติใหม่ให้การศึกษาไทย และยังช่วยสนับสนุนให้เด็กไทยเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
จะเห็นว่า การมาของเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง Generative AI อาจไม่ได้น่ากังวลอย่างที่คิด หากเริ่มทำความเข้าใจว่าเทคโนโลยีนี้คืออะไร มีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไร รวมถึงเราจะใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร เมื่อได้รับข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้องแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้สอน ผู้เรียน หรือผู้ปกครอง ก็จะเกิดการรู้เท่าทันและสร้างสมดุลการใช้งาน Generative AI ควบคู่การใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมั่นคงปลอดภัย
ติดตามข้อมูลดิจิทัลดีๆ ของ ETDA เพิ่มเติมได้ที่ทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย ETDA Thailand และผู้สนใจข้อมูลเสวนา Generative AI and the Future of Education อนาคตการศึกษาไทยกับการใช้ Generative AI สามารถฟังเพิ่มเติมได้ที่ https://fb.watch/m0uMzSFpht/#ETDAThailand #เอ็ตด้า #AIGC #GenerativeAI #ชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล