“รมว.อุตฯ” ปลื้มความสำเร็จผู้ประกอบการไทย ดันซอฟต์พาวเวอร์หนุนอาหาร-แฟชั่น-งานแฟร์ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มรายได้ให้ชุมชนยั่งยืน
กระทรวงอุตสาหกรรม โชว์ความสำเร็จพัฒนา 3 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์อาหาร แฟชั่น และงานแฟร์ ดันผ้าไหมไทยเข้าวงการแฟชั่นโลก ชู 22 เมนูอร่อยชุมชนดีพร้อม พร้อมจัดงานแฟร์เปิดพื้นที่โปรโมทสินค้า ดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นชูผลิตภัณฑ์ เกิดผู้ประกอบการใหม่ ตอบโจทย์เทรนด์ตลาดโลก สร้างรายได้เข้าชุมชนต่อเนื่อง เผยเดินหน้าขยายผลพัฒนาต่อเนื่องขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นโยบายของรัฐบาลปัจจุบันมุ่งสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของประเทศ เพื่อยกระดับและพัฒนาความสามารถด้านความรู้ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้ รวมทั้ง การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาต่อยอดศิลปะ วัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมีเป้าหมายส่งเสริมและพัฒนา 3 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ประกอบด้วย 1. อาหาร (Food) 2.การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) และ 3. การจัดงานแสดงสินค้า (Fair) ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนประสบความสำเร็จและยังคงเดินหน้าขยายผลพัฒนาต่อเนื่องเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจชุมชนให้มากขึ้น
“ประเทศไทยมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นชัดเจนและมีชื่อเสียง ทั้งอาหาร วัฒนธรรม การแต่งกาย เครื่องดนตรี ฯลฯ จนกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวและทั่วโลกได้รู้จักสินค้าและบริการต่างๆ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ส่งผลให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นชุมชน ซึ่งเราต้องให้ความสำคัญและช่วยกันพัฒนาสิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้นเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งเกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน และให้ภาคอุตสาหกรรมมีการปรับตัวเข้าสู่วิถีใหม่ได้อย่างสมดุลและยั่งยืน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ในส่วนของแฟชั่นไทยผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยนับเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับ ความนิยมทั้งจากคนไทยและต่างชาติ กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เข้าไปยกระดับอุตสาหกรรมสิ่งทอและผ้าพื้นเมือง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงฯ โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ในรูปแบบใหม่ บนพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ผสานเทคโนโลยี ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม จนสามารถผลิตผ้าไหมได้ถึง 24 ผลิตภัณฑ์ จาก 8 วิสาหกิจชุมชน สามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้กว่า 7,000,000 บาท ทำให้ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้น 400,000 – 1,700,000 บาทต่อชุมชน โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ในงาน “มัดทอใจ มรดกผ้าไทยร่วมสมัย ภายใต้โครงการพัฒนาผ้าไหมไทยร่วมสมัย (Premium Thai Silk ) ประจำปี 2566 รวมทั้งยังมีการจัดส่งผ้าไหมไทย เพื่อขยายตลาดไปยังประเทศต่าง ๆ อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย อิตาลี และยุโรป ซึ่งได้รับการตอบรับจากกลุ่มผู้ซื้อเป็นอย่างดี
ในส่วนของอุตสาหกรรมอาหาร ที่นับเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญของไทย ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ดำเนินการจัดโครงการเมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม 22 เมนู ปั้นเชฟชุมชนดีพร้อม 22 ชุมชนทั่วประเทศ เพื่อยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นด้วย Soft Power ด้านอาหารผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้สูงถึง 25,000,000 บาท และเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น พร้อมขยายผลและต่อยอดเป็นโมเดลต้นแบบต่อไป
ซอฟต์พาวเวอร์อีกส่วนที่สำคัญคือการจัดงานแสดงสินค้าหรืองานแฟร์ (Fair) เพื่อให้เกิดกลไกทางการตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ ผ่านการจัดกิจกรรมจัดงานแฟร์ตลอดทั้งปีทั่วประเทศ เป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการของกระทรวงฯ ได้มีช่องทางการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภคได้ใช้ของดีมีคุณภาพและมาตรฐาน และเป็นการกระตุ้นผู้ประกอบการเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต กระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างแท้จริง
โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการจัดงาน “อุตสาหกรรมแฟร์” กระจายตามพื้นที่ต่างๆ จำนวน 14 ครั้ง สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึง 700 ล้านบาท โดยปี 2567 มีแผนการจัดงานแฟร์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบูรณาการกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมขยายขอบเขตบกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการปั้นผู้ประกอบการใหม่ที่สามารถพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้สินค้าไทยสามารถเติบโตในตลาดโลกและสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจชุมชนไทย