บริษัทมหาชนรายใหญ่แจงผลประกอบการครึ่งแรกปี 2567 รายได้ทะลุหมื่นล้าน

พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ เผยผลสำรวจ ในช่วง 6 เดือนของปี 2567 ที่ผ่านมาถือเป็นช่วงที่เหนื่อยยากสำหรับธุรกิจต่างๆ รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่นๆ (Supply  Chaim) อีกมากมาย ต้องสร้างกลยุทธ์ในการหารายได้กันอย่างมาก ดังนั้นทุกรัฐบาลที่ผ่านมาจึงได้ออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในตลาดอสังหาฯมาโดยตลอด รวมถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ออกมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาฯในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะได้รับผลดีบ้างสำหรับกลุ่มผู้ซื้อบางกลุ่ม และบางระดับราคา แต่สิ่งที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนในเรื่องของมาตรการของรัฐบาลว่าได้ผลและส่งผลบวกต่อตลาดหรือไม่ คือ  การพิจารณาจากรายได้ของผู้ประกอบการต่างๆ ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

นายสุรเชษฐ์ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ (Property DNA)

โดยล่าสุดผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ได้ทยอยประกาศผลประกอบการในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่ง นายสุรเชษฐ์ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ (Property DNA) มองว่า มีผู้ประกอบการหลายรายยังคงมีรายได้ที่มั่นคง มีกำไรต่อเนื่อง รวมถึงมีผู้ประกอบการบางรายมีรายได้เกือบจะ 50% ของเป้าหมายรายได้ที่ตั้งไว้ตลอดทั้งปี 2567 ทำให้ไม่วิตกกังวลมากในช่วงที่เหลือของปีนี้ อีกทั้งยังอาจจะมีการสร้างเซอร์ไพร์สในช่วงปลายปีได้อีกด้วย หากมีการเร่งสปีดการโอนกรรมสิทธิ์ก่อนที่จะหมดมาตรการจากรัฐบาลช่วงปลายปี 2567 ซึ่งมักจะเห็นได้เสมอในช่วงเวลาที่มาตรการใกล้ครบกำหนดจะมีการเร่งสปีดการโอนกรรมสิทธิ์จนตัวเลขยอดขายและรายได้เพิ่มขึ้นตลอดทุกครั้งที่มีมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ออกมา

รายได้และกำไรสุทธิของผู้ประกอบการรายใหญ่บางรายในตลาดหลักทรัพย์ ณ 6 เดือนแรก ปี 2567

บริษัทรายได้รวม
(ล้านบาท)
% แตกต่าง 2567-2566กำไรสุทธิ (ล้านบาท)% แตกต่าง 2567-2566
แสนสิริ19,784+7%2,702-15.6%
เอพี (ไทยแลนด์)17,845-5.2%2,277-24.7%
แลนด์แอนด์เฮ้าส์14,7252.5%2,248-19.8%
ศุภาลัย12,806-10.7%2,213-20.4%
เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น8,856-14.7%713-36.7%
แอสเซทไวส์4,57353.8%84993.1%
คิวเฮ้าส์4,240-5.1%1,110-12.1%

ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2567)

หมายเหตุ: ผู้ประกอบการบางรายอาจจะมีการอัพเดทอีกครั้งภายหลัง

ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่มีรายได้และกำไรมากที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 คือ บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีรายได้มากถึง 19,784 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 2,702 ล้านบาท จากการปิดการขายโครงการไปมากถึง 15 โครงการ ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 7% ส่วน บริษัทเอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ตามมาเป็นอันดับที่ 2 ด้วยรายได้รวม 17,845 ล้านบาท และ กำไรสุทธิ 2,277 ล้านบาท โดยรายได้ส่วนใหญ่มีการรับรู้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา ส่วนอันดับที่ 3 คือ บริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) และ ตามมาด้วย บริษัทศุภาลัย จำกัด (มหาชน)

โดยทั้ง 4 อันดับแรกมีรายได้มากกว่า 10,000 ล้านบาทขึ้นไป และกำไรสุทธิก็มากกว่า 2,000 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งหากพิจารณาจากรายได้ของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ประกาศผลประกอบการ 6 เดือนแรกแล้วนั้น อาจจะชี้ชัดไม่ได้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยชะลอตัวหรือหดตัวรุนแรง เนื่องจากรายได้ของผู้ประกอบการบางรายลดลงไม่มากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ปีที่แล้วก็เป็นปีที่ตลาดที่อยู่อาศัยไม่ได้มีการขยายตัวมากนัก ดังนั้นการที่รายได้ของผู้ประกอบการต่ำกว่าปีที่แล้วก็อาจจะเห็นได้ถึงสัญญาณการชะลอตัวของตลาด

อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบรายได้ของผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ ณ ปัจจุบัน ค่อนข้างเห็นได้ชัดเจนว่ารายได้ของผู้ประกอบการมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่ามาตรการของรัฐบาลมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น แม้ว่าอาจจะมีปัญหาเรื่องของการขอสินเชื่อรายย่อยจากสถาบันการเงินที่มีความเข้มงวด ประกอบกับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคาร และแนวโน้มของเศรษฐกิจประเทศไทยที่อาจจะยังไม่ถึงจุดฟื้นตัวในปีนี้ ผู้ซื้อบางรายที่ยังไม่มีความจำเป็นหรือไม่ได้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยแบบเร่งด่วนก็อาจจะชะลอการตัดสินใจซื้อออกไปก่อน แม้ว่าการซื้อในปีถัดไปหรือหลังจากนี้อาจจะต้องจ่ายเงินมากขึ้น เพราะไม่มีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อจากรัฐบาล ราคาที่อยู่อาศัยที่ปรับเพิ่มขึ้นตามกลไกตลาด และรวมทั้งราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่กลุ่มคนที่มีความพร้อมและต้องการที่อยู่อาศัย การตัดสินใจซื้อในปีนี้ถือเป็นเรื่องที่เหมาะสมที่สุด นอกจากจะได้ที่อยู่อาศัยบนต้นทุนเดิม หรือต้นทุนที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ยังเป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการอาจจะมีความยืดหยุ่นในการพิจารณาเรื่องของราคาขาย เพราะต้องการสร้างรายได้ให้กับบริษัท

ดังนั้นช่วงที่เหลือของปี 2567 ถือเป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการต่างๆ ยังสามารถสร้างรายได้ได้อีก โดยเฉพาะจากโครงการที่สร้างเสร็จแล้ว หรือกำลังจะสร้างเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2567 เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาล ส่วนผู้ประกอบการที่อาจจะมีโครงการไม่ต่อเนื่อง หรือมีโครงการไม่ครอบคลุมทุกระดับราคาก็อาจจะต้องหาช่องทางในการสร้างรายได้มากขึ้น

นอกจากนี้การเข้าถึงกำลังซื้อต่างชาติถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ผู้ประกอบการหลายรายพยายามกันมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่เพียงแต่ผู้ซื้อจากประเทศจีนเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการบางรายขยายตลาดไปยังกลุ่มผู้ซื้อจากประเทศไต้หวัน อินเดีย ดูไบ รัสเซีย และยุโรปมากขึ้น รวมไปถึงกลุ่มผู้ซื้อจากเมียนมาที่อาจจะมีปัญหาในช่วงนี้

บทความโดยพร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ (Property DNA) คุณสุรเชษฐ์ กองชีพ   

Facebook Comments Box

About The Author