สสส. เปิดผลความสำเร็จโมเดล 5 เสือภาคีระดับอำเภอสู่การขับเคลื่อน ชุมชนล้อมรักษ์ (CBTx) พื้นที่อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม แลกเปลี่ยนบทเรียนแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยแนวคิด “ปัญหาเกิดขึ้นที่ชุมชนต้องจบที่ชุมชน ถ้าทีมเวิร์คทุกอย่างก็เวิร์ค” พบจำนวนผู้เสพลดลงต่อเนื่อง

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่วัดสร้างแก้ว อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประชุมแลกเปลี่ยนบทเรียน ความสำเร็จของกลไก พชอ. “พื้นที่เป็นฐาน ชุมชนเป็นศูนย์กลาง” แก้ปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน โดย สสส. และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และโมเดล 5 เสือภาคีระดับอำเภอ สู่การขับเคลื่อนระบบ CBTx หรือ ชุมชนล้อมรักษ์ แก้ปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม

นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า หลักการสำคัญของชุมชนล้อมรักษ์ คือ การมีส่วนร่วมของชุมชนซึ่งแต่ละพื้นที่ต้องหาวิธีการของตนเอง ผนวกกับการมีส่วนร่วมของครอบครัวและผู้เสพที่จะร่วมออกแบบการช่วยเหลือ โดยมีสาธารณสุขคอยหนุนเสริม เวทีประชุมแลกเปลี่ยนบทเรียนความสำเร็จของกลไก พชอ. “พื้นที่เป็นฐานชุมชนเป็นศูนย์กลาง” แก้ปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืนในครั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างชุมชนและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบบูรณาการในทุกมิติ เชื่อมกลไกการทำงาน พชอ. เพื่อให้เกิดผลดีแก่เด็กและเยาวชนในทุกพื้นที่

“เราต้องยอมรับประเด็นปัญหายาเสพติดว่ามีจริง โดยในต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ก็มีคนติดยาตามท้องถนนหรือมีปัญหาด้านยาเสพติดเช่นเดียวกัน แต่แทบไม่เคยพบข่าวการไล่ทำร้ายคนจากประเด็นยาเสพติด ดังนั้น เราต้องยอมรับว่ายาเสพติดมีทุกพื้นที่ แต่ต้องไม่ให้มีมากเกินไป และป้องกันไม่ให้เด็กวัยรุ่นเข้าสู่วงจรนี้หรือลดน้อยลง ดังนั้น จึงต้องมีการการสำรวจสถิติสถานการณ์จำนวนผู้เสพในพื้นที่ มีการตั้งตัวชี้วัดและมีตัวชี้วัดที่มีเป้าหมายว่า มีจำนวนผู้เสพในเขตพื้นที่ลดลง มีปัญหาที่เกิดเหตุจากคนติดยาบ้าลดน้อยลง นายอำเภอและกลไก พชอ. จะต้องเป็นแกนนำหลัก และมีคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแล มีส่วนร่วมในการป้องกัน และควบคุมปัจจัยเสี่ยงเรื่องยาเสพติดอย่างเป็นรูปธรรม” นพ.มล.สมชาย กล่าว

นายชินวัต ทองปรีชา นายอำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม กล่าวว่า กระบวนการทำงาน เริ่มที่หมู่บ้านต้องจบที่หมู่บ้านโดยเริ่มที่หมู่บ้าน พื้นที่อำเภอบ้านแพงสั่งให้กำนันผู้ใหญ่บ้าน 66 หมู่บ้าน ไป x-ray หาข้อมูลผู้ติดยาเสพติดในชุมชน หรือค้นหาจำนวนผู้เสพ พบว่า มีจำนวนผู้เสพ 369 คน จาก 35,000 คน ซึ่งมีจำนวนผู้เสพสูงเกินกว่าบริหารจัดการ โดยเมื่อทราบตัวตนแล้วได้หาวิธีการและการเข้าสู่กระบวนการ ผู้เสพก็เหมือนผู้ป่วยต้องมีการถนอมไว้ เปรียบกับเมื่อเราเป็นโรคไข้หวัดซึ่งต้องรักษาให้หาย ผู้เสพก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมหรือสารระบบเดิมเพื่อไม่ให้เขากลับไปสู่วงจรยาเสพติด ซึ่งนายอำเภอจะเป็นแกนนำในการขับเคลื่อน รวมถึงปัญหายาเสพติดอาจต้องค่อย ๆ ทำโดยสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชนหรือหมู่บ้านด้วยความร่วมมือจากกำนันผู้ใหญ่บ้าน สโลแกน “ไม่มีพระเอกในสังคม มีแต่ทีมเวิร์ค” ดังนั้น ถ้าทีมเวิร์คเข้มแข็ง มีการสอดรับประสานงานกันเป็นอย่างดี ก็มีการประสบความสำเร็จ

“การตัดต้นเหตุยาเสพติดถ้ามี 5 สิ่งนี้จะนำไปสู่ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหายาเสพติด 1.การสร้างแหล่งข่าวหรือสร้างเครือข่ายภาคประชาชน ให้กระจายข่าวว่า ถ้าทราบตัวผู้เสพให้มารายงานกับอำเภอจะไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดี แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการบำบัด 2.ปรับทัศนคติการมองเป้าหมายร่วมกัน 3.สนับสนุนงบประมาณการทำงานด้านยาเสพติดเพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมอบรม อสม. กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ญาติผู้ป่วยและผู้ปกครอง เพื่อเป้าหมายในการเปลี่ยน Mindset ของคนในชุมชน 4.เครื่องมือติดตามรายงานผล มีการจัดประชุมและรายงานผลต่อนายอำเภอทุกวันที่ 20 ของทุกเดือน โดยการดำเนินการหลักการคือต้องมีผลสำเร็จแล้วมีการรายงานผลแก่ประชาชนหรือชาวบ้าน 5.อบรมผู้ช่วยฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้ดูแลผู้ป่วย และสร้างอาชีพให้ผู้ป่วยหลังการบำบัดเสร็จสิ้น” นายชินวัต กล่าว

ขณะที่ นายธวัชชัย แสงจันทร์ สาธารณสุขอำเภอบ้านแพง กล่าวว่า อำเภอบ้านแพงมีการสร้างความเข้าใจระหว่างภาคีเครือข่ายหน่วยงานต่าง ๆ มีการทำ MOU มีการทำประชาคมทุกหมู่บ้านเพื่อทำการค้นหา คัดกรอง และส่งต่อไปบำบัด โดยปรับบทบาทหน้าที่ของตำรวจ ทหารให้สามารถเปลี่ยนคนกลุ่มนี้ให้อยากแสดงตัวเข้ารับการบำบัด ซึ่งมีการจับตรวจปัสสาวะพบ 16 รายของตำบลไผ่ล้อม และส่งต่อบำบัดตามโปรแกรม และออกติดตามโดย 5 เสือภาคี ในอนาคตมองว่าหากมีการดำเนินการด้วยหัวใจความเข้มแข็งก็จะเกิดขึ้นระดับพื้นที่ โดยใช้หลัก 5 ล. (ล้อมรั้ว ล้อมรุก ล้อมรักษ์ ล้อมใจ และล้อมชุมชน) ก็สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำให้ปัญหาด้านยาเสพติดลดลงในอนาคต และผู้ป่วยได้รับการบำบัดอย่างต่อเนื่อง

นายเรวัตร ผาลี (แจ๊ค) อดีตผู้รับการบำบัดยาเสพติด กล่าวว่า จุดเริ่มต้นเข้าสู่วงจรยาเสพติด คือเพื่อน ชั้นปวส.2 ได้ชวนให้ลองเสพจนสามารถหาซื้อเองและเริ่มเสพจากวันละ 1 เม็ดเพิ่มเป็นวันละ 2-3 เม็ด ช่วงที่ติดหนักมาก 3-4 เม็ดต่อวัน ยาเสพติดทำให้ชีวิตตกต่ำไม่มีเงินใช้ ผลจากการเสพยาทำให้หลอนยา กลัวตำรวจมาจับอยู่ทุกวัน จึงตัดสินใจเข้ารับการบำบัดรักษาเข้าค่ายบำบัดรุ่นที่ 1 เป็นโครงการที่ดี มีวิทยากรอบรม มีอาหารให้กิน ระยะเวลาอบรม 12 วัน หลังจากอบรมทำให้หยุดยาได้ทันที ส่วนเพื่อนที่เคยคบก็มีเพื่อนชวนกลับไปเสพแต่เลิกคบไปแล้ว พยายามคบแต่เพื่อนที่ไม่เสพ จนตอนนี้เลิกเสพยาได้แล้วประมาณ 1 เดือน ปัจจุบันชีวิตเปลี่ยนขึ้นเยอะ ได้กลับมาอาชีพทำแทงรูยา (ยาสูบ) ที่บ้าน และมีการรับจ้างแบกกล้วย

“ความตั้งใจที่เลิกเสพ เพราะอยากหาเงินมารักษาแม่ โดยแม่เป็นเส้นเลือดในสมองแตกและแม่ก็เป็นหนึ่งในกำลังใจที่ทำให้อยากเลิก เพราะเราอยากให้แม่หายนอกจากจากแม่แล้วมีพี่ชายปปส. หรือพี่ต้อ ช่วยคอยติดตามเราตลอดก็มีส่วนสำคัญ ที่ทำให้อยากให้เลิกเสพยา” นายเรวัตร กล่าว

Facebook Comments Box

About The Author