“ฉลากสิ่งแวดล้อม” ทางรอดเพื่อการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
กว่า 30 ปี ที่เครื่องหมาย “ฉลากเขียว” ได้การันตีและยืนยันถึงสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและป้องกันมลพิษต่อคนในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยในงาน “30 ปี TEI ก้าวไปกับภาคี สู่สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” ซึ่งจัดขึ้นโดย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ ได้มีการมอบโล่ฉลากเขียวให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้การรับรองฉลากเขียวมากกว่า 20 ปี และพิธีมอบเกียรติบัตรฉลากเขียวให้กับผู้ผลิตและผู้ให้บริการที่มิตรกับสิ่งแวดล้อมในปี 2565 -2566 อีกกว่า 50 บริษัท
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ฉลากเขียวของประเทศไทยริเริ่มขึ้นโดยองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development, TBCSD) เมื่อเดือนตุลาคม 2536 และได้รับความเห็นชอบและความร่วมมือจากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ปฏิบัติออกมาเป็นรูปธรรม จึงนับว่าเป็นฉลากสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่เกิดจากการร่วมมือระหว่างส่วนราชการ และองค์กรกลางต่าง ๆ โดยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยทำหน้าที่เป็นเลขานุการ ซึ่งปัจจุบัน ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2566 เรามีสินค้าและบริการที่ได้รับเครื่องหมาย “ฉลากเขียว” แล้วกว่า 865 รุ่น จำนวน 33 กลุ่มผลิตภัณฑ์/บริการ จาก 119 บริษัท
“ฉลากสิ่งแวดล้อม ถือเป็นทางรอดที่ไม่ใช่ทางเลือกสำหรับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ทำให้ต้องมีวิถีปฏิบัติในการซื้อสินค้าและเลือกใช้บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยสินค้าและบริการเหล่านั้นจะต้องมีฉลากสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการบ่งชี้ว่ามีสินค้าหรือบริการเหล่านั้นมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าหรือบริการประเภทเดียวกัน นอกเหนือจากนั้นการมีฉลากสิ่งแวดล้อมยังเป็นการสร้างมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มโอกาสทางการค้า เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อทำให้เกิดการส่งเสริมธุรกิจเพื่อการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน ยกระดับการปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และจะเป็นทางรอดของโลกใบนี้”
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวสรุปในหัวข้อ “นโยบายการจัดซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ว่า นโยบายดังกล่าวถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่จะสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน สิ่งที่สำคัญคือ การยกระดับการผลิตให้มีมาตรฐาน เช่น ฉลากเขียว และมีการส่งเสริมให้เกิดการจัดซื้อสินค้าและพัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยขั้นตอนจะเริ่มตั้งแต่กระทรวงการคลังมีการออก พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้าง และมีการกำหนดในกฎกระทรวง แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปี 2565-2570 และให้กรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ประกาศ คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี ในการขับเคลื่อนสู่ภาคการปฏิบัติจริง โดยมีเป้าหมายในเบื้องต้นคือ 30% ของมูลค่าจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาท ซึ่งการจัดซื้อจากภาครัฐจะเป็นตัวเบิกทางที่จะส่งผลให้ภาคการผลิตมีต้นทุนที่ต่ำลง และจะส่งแรงกระเพื่อมไปสู่ภาคเอกชนต่อไปในการเลือกสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
พร้อมกันนี้ในส่วนของภาคเอกชนและผู้ส่งออก นายรัฏฐา ศรีเจริญ นักวิชาการมาตรฐานชำนาญการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ให้ข้อมูลว่า สำหรับผู้ประกอบการส่งออกสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบหรือมาตรการระหว่างประเทศ เช่น CBAM, EU Green Deal, Circular Economy, Zero waste to land field สามารถอ้างอิงเกณฑ์มาตรฐานฉลากสิ่งแวดล้อมจะช่วยให้นำไปสู่เป้าหมายนั้นได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
ด้านการลงทุน ดร.เพชรมณี ดาวเวียง รองผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว) กล่าวเสริมว่า สสว. มีการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมผ่านกลไกการสนับสนุน Business Development Service (BDS) หรือ SME ปัง ตังค์ได้คืน สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการยื่นขอฉลากสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันด้วยเช่นกัน
นายจอมไตร บุนนาค ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารสำนักงานธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย กล่าวเสริมว่า ทิศทางการสนับสนุนทางการเงินซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญและขาดไม่ได้สำหรับการลงทุนเพื่อประกอบธุรกิจที่เป็นมิตรฯ อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการสนับสนุนและประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงกลุ่ม SMEs ซึ่งธนาคารกรุงเทพก็มีสินเชื่อหลายประเภทและเงื่อนไงที่เอื้อต่อกลุ่มธุรกิจที่มีแนวคิดในด้านมาตรฐานสิ่งแวดล้อม
โดยในส่วนของภาคประชาชนหรือผู้บริโภค ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง กรรมการนโยบายและประธานอนุกรรมการสินค้าและบริการทั่วไป สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า จากการสำรวจของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปี 2565 พบกว่า ผู้บริโภคมองปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัว กว่าร้อยละ 74 ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ตัวที่สุดคือเรื่องของฝุ่นมลพิษ PM2.5 รองลงมาคือเรื่องของการเปลี่ยนแปลสภาพภูมิอากาศ และภาวะโลกร้อน โดย 2 ใน 3 พร้อมสนับสนุนสินค้า Eco-Friendly ที่แพงกว่าสินค้าปกติไม่เกินร้อยละ 20
ทางด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการเสวนา“ฉลากสิ่งแวดล้อมกับการส่งเสริมธุรกิจเพื่อการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน” ว่า สสส. มีส่วนสำคัญในการสื่อสารการบริโภคสินค้าที่มีฉลากสิ่งแวดล้อมไปสู่ผู้บริโภค โดยปัจจุบัน สสส. ได้ให้การร่วมมือกับ TEI และอีกหลายหน่วยงานได้ช่วยผลักดันฉลากสิ่งแวดล้อมไปยังสินค้าจากชุมชน ซึ่งขณะนี้ได้นำร่องไปแล้วในหลาย ๆ พื้นที่ นับเป็นอีกทางเลือกให้กับผู้บริโภคและเป็นทางรอดของผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่อยู่ในชุมชน
“ทุกวันนี้สุขภาพเป็น 1 ใน 3 ของเรื่องที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด สุขภาพไม่ใช่เรื่องหมอหรือยาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นทุก ๆ สิ่งที่อยู่รายรอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน และทุก ๆ องค์ประกอบของสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสุขภาพของทุก ๆ คน ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันทั้งภาคประชาชนที่ต้องสร้างความตระหนักรู้และเลือกบริโภคสินค้าที่ได้รับฉลากสิ่งแวดล้อม ภาครัฐที่ต้องมีกฎระเบียบที่เข้มแข็งออกมาควบคุม และผู้ประกอบการที่จะต้องเดินตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด”
การร่วมมือกันของทุกภาคส่วนถือเป็นก้าวย่างสำคัญสู่ทางรอดทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภคที่จะต้องร่วมกันกู้วิกฤตยุค “โลกเดือด” และสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “ฉลากสิ่งแวดล้อม” สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ ฝ่ายฉลากเขียวและฉลากสิ่งแวดล้อม โทร. 02-503-333 ต่อ 522 หรือ www.tei.or.th/greenlabel, FB: https://www.facebook.com/greenlabelthailand