Sustainability Forum 2023 เร่งองค์กรดึง ESG มาใช้ ดูแลโลกและสังคม ลดเสี่ยง สร้างโอกาสธุรกิจ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ในบรรดา ESG ที่ประกอบด้วยการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นปัจจัยนำไปสู่ความยั่งยืนนั้น การดูแลสิ่งแวดล้อมโดยการลดการปล่อยคาร์บอนถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่สุด เนื่องจากเราต้องรีบหยุดยั้งมหันตภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติระบุว่า หากในปี 2050 ประชาคมโลกพลาดเป้า Net Zero หรือการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ในเชิงเศรษฐกิจจะเกิดความเสียหายกับ GDP โลก สูงถึง 20% เทียบกับผลกระทบที่จำกัดเพียง 3% ถ้าทำได้ตามที่กำหนด แน่นอนว่าภาวะโลกร้อนไม่เพียงส่งผลต่อโลกที่เราอยู่อาศัย แต่จะส่งผลถึงเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนด้วย และนี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ผู้บริหารองค์กรชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทยและต่างประเทศ มารวมตัวกันในงาน Sustainability Forum 2023 ภายใต้หัวข้อ “Mitigating Risks, Finding Opportunities – ลดความเสี่ยง สร้างโอกาสธุรกิจ” ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้โดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA)
ESG เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลก และกลายเป็นมาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างคาดหวัง ข้อมูลจาก มร. เจฟ ฮีลลี (Mr. Geoff Healy) กรรมการผู้จัดการและพาร์ทเนอร์ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป ซิดนีย์ ชี้ให้เห็นว่า ซีอีโอของบริษัทชั้นนำมีความเห็นว่า ESG ช่วยสร้างคุณค่า 5 ประการ ได้แก่ 1. ช่วยให้องค์กรธุรกิจเข้าถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งแหล่งเงินทุน บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ลูกค้า และพันธมิตรทางธุรกิจ 2. ช่วยลดต้นทุนจากการเข้าร่วมเส้นทางลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ 3. สร้างรายได้จากการเข้าสู่ตลาดกรีน ด้วยโมเดลธุรกิจ ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ 4. มีจุดยืนในตลาด ช่วยเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนโดยรวมจากการสื่อสารความคิดริเริ่มเกี่ยวกับโครงการด้านความยั่งยืน และ 5. เพิ่มคุณค่าให้องค์กร โดย ESG มีความสัมพันธ์กับผลตอบแทนการลงทุนโดยรวม
ปรับใช้แนวคิด ESG ในการวางแผนกลยุทธ์และวัฒนธรรมองค์กร
ในการเสวนาเรื่องการปรับใช้แนวคิด ESG ในการวางแผนกลยุทธ์และวัฒนธรรมองค์กร ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ความเห็นว่าสำหรับองค์กรภาครัฐ G-Governance หรือธรรมาภิบาล มีความสำคัญที่สุด เริ่มต้นด้วยการจัดการกับคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของความล้มเหลวในการดูแลระเบียบกฎเกณฑ์และกระทบทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคม ป้องกันการจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อจะได้ไม่ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ รวมถึงความจำเป็นในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย
ในส่วนของ มร. อาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทฯ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาขน) เน้นขับเคลื่อน ESG ด้วยพลังของการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความรู้แก่เยาวชนในโรงเรียนให้ทิ้งขยะอย่างมีความรับผิดชอบ โดยประสานกับโรงเรียน 437 แห่งในสังกัดกรุงเทพมหานคร (BMA) ทำโครงการแยกขยะขวดพลาสติกเพื่อนำมารีไซเคิล รวมถึงการแบ่งปัน Best Practice ให้ข้อมูลความรู้ความเข้าใจแก่หน่วยงานรัฐในการนำขวด PET มาผ่านกระบวนการเพื่อผลิตเป็นขวดใหม่ ซึ่งมีความปลอดภัยและได้รับการยอมรับจากสหภาพยุโรป การทำเช่นนี้ช่วยลดปริมาณขยะและนำไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายในปี 2030 วัตถุดิบ 30% ที่อินโดรามาใช้จะต้องมาจากแหล่งที่ยั่งยืน รวมทั้งจะจัดสรร 40% ของงบกระแสเงินสดไว้เพื่อการนี้
ทางด้าน นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ของกลุ่มบริษัทบางจากในปี ค.ศ. 2050 ผ่านแผน BCP 316 NETโดยให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาลหรือภาคเอกชนในการผลักดันกลไกสำคัญที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจก อาทิ การจัดตั้ง Carbon Markets Clubเพื่อสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
นอกจากนี้ นายชัยวัฒน์ยังได้ให้ความเห็นในเรื่องคาร์บอนเครดิตใน 2 ประเด็นหลัก คือ การผลักดันให้เกิดการรับรองมาตรฐานคาร์บอนเครดิตในระดับภูมิภาค และการมีตลาดคาร์บอนภาคบังคับในประเทศไทย ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการควบคุมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกฎหมาย การเก็บภาษีคาร์บอน นำไปสู่การจัดสรรเงินทุนที่ได้จากกลไกภาคบังคับนี้ เพื่อนำไปใช้ในการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน หรือเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นเพื่อประโยชน์ในการลดก๊าซเรือนกระจก
บริหารจัดการความเสี่ยงด้าน ESG และคว้าโอกาสการเติบโต
นายปิติ ตัณฑเกษม กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงประเด็น Net Zero ที่กำลังเป็นกระแสสำคัญในปัจจุบันว่า “ในมุมมองของสถาบันการเงินที่มีหน้าที่ให้เงินทุนแก่ภาคธุรกิจ จำเป็นต้องปรับตัวเรื่องความตระหนักรู้ต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าธนาคารจะไม่ใช่เป็นอาชญากรทางสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่ธนาคารคือผู้ที่ให้เงินลงทุนแก่บริษัทที่สร้างคาร์บอนฟุต พรินท์ ในความเป็นจริงการลงทุนเพื่อความยั่งยืนมีต้นทุนที่สูง การให้บริการเรื่อง Low Cost Fund จึงเป็นหน้าที่ของธนาคารเพื่อให้ลูกค้าอยู่รอดในการทำธุรกิจ หากเราต้องการที่จะเริ่มต้นด้วย ESG เราควรเริ่มมองจาก Business ก่อนเป็นอันดับแรก แล้วจึงทำความเข้าใจว่าธุรกิจของเรากระทบกับสิ่งไหนใน E หรือS หรือ G และเลือกทำให้ตรงจุดกระทบสำคัญ ให้น้ำหนักแต่ละด้านอย่างเหมาะสม”
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศเป็นวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ธุรกิจพลังงานจึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีความเสี่ยง เพราะถูก Disrupt อย่างเห็นได้ชัด ดร. กิรณ ลิมปพะยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เราเริ่มปรับตัวจากภายในองค์กร มองว่าเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจเข้าสู่พลังงานทางเลือกใหม่ เช่น การลงทุนกับ Shale Gas (ธุรกิจก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน) พร้อมประกาศว่าจะไม่ลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ ต้องยอมรับว่ากลุ่มพลังงานทางเลือกเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง แต่เราต้องสร้างโอกาสจากสิ่งนี้ ใช้หลัก ESG มานำทาง ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างกำไรให้เกิดขึ้น โดยต้องนำเรื่อง ESG ไปปลูกฝังในทุกภาคส่วนขององค์กร สรุปแล้วเราควรมองว่า ESG คือโอกาสทางธุรกิจที่ควรให้เวลาในระยะยาวกับสิ่งนี้เพื่อผลที่ยั่งยืนในอนาคต”
การสื่อสารและการเปิดเผยข้อมูลเพื่อขับเคลื่อน ESG
การสื่อสารด้าน ESG เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสื่อสารให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับรู้และเข้าใจ ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละกลุ่มนั้นมีความต้องการและความคาดหวังที่แตกต่างกัน องค์กรจึงมีหน้าที่อธิบายและสื่อสารให้ทุกกลุ่มเกิดความเข้าใจ อีกทั้งองค์กรยังต้องปรับตัวและเรียนรู้แนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมไปถึงมาตรฐานใหม่ๆ อีกหลายมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินที่จะมีผลบังคับใช้ในอนาคต
งาน Sustainability Forum – “Mitigating Risks, Finding Opportunities” ได้รับการสนับสนุนโดยบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท เบทาโกร จํากัด (มหาชน) บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้านครหลวง และเอสซีจี