TCMA ชูจุดแข็งอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ผนึกรัฐ-อุตสาหกรรม-ชุมชน กำจัดวัสดุไม่ใช้แล้วอย่างยั่งยืน ด้วยการเผาร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์

TCMA ชูกระบวนการเผาร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์ (Co-processing in Cement Kiln) จุดเด่นด้านความปลอดภัย ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ ลดพื้นที่ฝังกลบ พร้อมเร่งเดินหน้าผสานความร่วมมือเชื่อมโยงทุกระบบนิเวศในสังคม ร่วมกำจัดวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) อย่างยั่งยืน ตามแนวคิดการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Concept)

.

นายนภดล รมยะรูป อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย หรือ TCMA (Thai Cement Manufacturers Association) เปิดเผยว่าการจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) ทั้งจากภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคชุมชน เป็นประเด็นที่สำคัญในประเทศไทย ซึ่งหากบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการคัดแยก ตั้งแต่ต้นทาง และจัดการอย่างเหมาะสม จะเป็นการลดของเสีย และใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์มากที่สุด รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทย ซึ่งเป็นสมาชิกของ TCMA ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทน (Alternative Raw Material: AR) หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน (Alternative Fuel: AF) ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ ภายใต้แนวคิดการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Concept) โดยการจัดกลุ่มอุตสาหกรรม (Industrial Cluster) เพื่อหมุนเวียนกากอุตสาหกรรมจากอุตสาหกรรมหนึ่งนำกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบทดแทนในอีกอุตสาหกรรมหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์สามารถหมุนเวียนนำกากอุตสาหกรรมมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนหรือวัตถุดิบทดแทนได้หลายประเภท

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีจุดเด่น ด้านเทคโนโลยีและความพร้อมด้านการจัดการวัสดุไม่ใช้แล้ว (Waste) ด้วยการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการเผาร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์ (Co-processing of Waste Materials in Cement Kiln) ที่มีอุณหภูมิสูงถึง 1,450 องศาเซลเซียส นับเป็นการใช้จุดแข็งของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ มากำจัดวัสดุไม่ใช้แล้ว ด้วยวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความปลอดภัยสูง ไม่ก่อมลพิษ ลดพื้นที่การฝังกลบ (Zero Landfill) และช่วยลดก๊าซเรือนกระจก

TCMA พร้อมบูรณาการเชื่อมโยงความร่วมมือร่วมขับเคลื่อนกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมกันจัดการวัสดุไม่ใช้แล้ว ด้วยกระบวนการเผาร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์ (Co-processing in Cement Kiln) โดยในปี 2563 สามารถนำวัสดุไม่ใช้แล้ว มาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน 10% และเพิ่มเป็น 23% ในปี 2565 ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ 4.7 ล้านตัน CO2 และพร้อมเดินหน้าสู่เป้าหมายการใช้เชื้อเพลิงทดแทน 68% ในปี 2573

Facebook Comments Box

About The Author