เสียงเด็กเยาวชนดังกึกก้องไปทั่วทั้งสายน้ำ!ในเวทีประกวดนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข ชิงถ้วยพระราชทานฯ
ในงานแข่งเรือขึ้นโขนชิงธงหลังสวน จังหวัดชุมพร ครั้งที่ 181 เปิดศักราชใหม่ให้เด็กเยาวชนสืบสานการพากย์เรือ ตอกย้ำค่านิยมการแข่งเรือต้องปลอดเหล้า
เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม (มพส.) โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กรมพลศึกษา เครือข่ายนักพากย์เรือสร้างสุข มูลนิธิลุ่มน้ำหลังสวน เทศบาลเมืองหลังสวน อำเภอหลังสวนและส่วนราชการในพื้นที่ ร่วมกันจัดเวทีประกวดนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 4 ในงานแห่พระแข่งเรือขึ้นโขนชิงธงลุ่มน้ำหลังสวนครั้งที่ 181 ณ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ตั้งแต่วันที่ 17-22 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา
นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ประธาน มพส. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปีของการรณรงค์แข่งเรือปลอดเหล้า ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากเจ้าภาพจัดงานในพื้นที่ต่างๆ กว่า 80% ของสนามแข่งเรือกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ มีจัดกิจกรรมแบบปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการสร้างความปลอดภัยลดปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่งาน อีกทั้งยังมีการพัฒนาหลักสูตรการพากย์เรือเพื่อสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมสร้างความตระหนักรู้ผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ไฟฟ้า ยาเสพติด การพนันและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
โดยในปี 2567 มีการอบรมนักพากย์เรือเยาวชนในแต่ละภูมิภาครวมกว่า 200 คน และได้คัดเลือกเป็นตัวแทนแต่ 4 ภูมิภาคมาประกวดนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุขชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ในงานแห่พระแข่งเรือลุ่มน้ำหลังสวน ปีที่ 181 จังหวัดชุมพร รวม 35 คน กิจกรรมดังกล่าวได้สร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน เช่นสนามแข่งเรือหลังสวน จ.ชุมพรพบประชาชน 95% ไม่นำหล้าเบียร์เข้ามาดื่มในพื้นที่จัดงาน
“เราหวังว่าเด็กๆ ที่เข้ามาเป็นนักพากย์เรือเยาชนสร้างสุข จะเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเอง เป็นนักสื่อสารรุ่นใหม่ที่เข้าไปมีบทบาทในวงการนักพากย์ ทั้งการพากย์เรือ ฟุตซอล พิธีกร ดีเจ ผู้บรรยายการแข่งขัน Youtuber เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพด้านการสื่อสารสุขภาพลดปัจจัยเสี่ยงของสังคมต่อไป”
นายจักรรินทร์ ว่องไววาณิชย์ ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันการประกวดนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข ครั้งที่ 4 กล่าวว่า การประกวดนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุขในปีนี้ ได้รับการตอบรับด้วยดีจากสังคมเป็นอย่างดี โดยเฉพาะทางสื่อ Online ที่มีการรับชมรับฟังผ่านคลื่น อสมท. ThaiPBS ThaiLongboat คลื่นวิทยุ และช่องทางต่างๆ และจากทุกมุมโลกกว่า 80.47%
ทั้งนี้ ตนเห็นด้วยกับการส่งเสริมนักพากย์เรือเยาวชนให้เด็กมีพื้นที่สร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยง โดยมีเกณฑ์ตัดสินแบ่งเป็นภาคทฤษฎีที่วัดความรู้เรื่องงานแข่งเรือ ข้อมูลเรือ ความรู้เรื่องวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ ความรู้เรื่องผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ไฟฟ้า ยาเสพติดและปัจจัยเสี่ยง และภาคปฏิบัติวัดกันที่ทักษะการพากย์เรือที่คล่องแคล้วมีไหวพริบปฏิญาณในสนามแข่งจริง และเพื่อให้เป็นบุคลากรหลักในการสืบสานงานพากย์เรือต่อไป จึงอยากให้พื้นที่ต่างๆ เปิดโอกาสให้เด็กเยาวชนได้เข้าไปมีส่วนร่วม มีบทบาทในกิจกรรมทุกๆ อย่างของแต่ละพื้นที่
นายชนะศักดิ์ สอนอินทร์ ตัวแทนทีมภาคใต้ ซึ่งเป็นทีมชนะเลิศการแข่งขันประเภททีม กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างหาที่สุดมิได้ที่ได้รับถ้วยพระราชทานอันทรงเกียรตินี้ ซึ่งคือรายการชิงแชมป์ระดับประเทศ ที่รวมคนเก่ง ทีมเก่งๆ เอาไว้มากมายทุกคนทุกทีมล้วนผ่านศึกมาแบบเข้มข้น ดังนั้นการได้แชมป์รายการนี้ โดยเฉพาะได้แชมป์ในบ้านตนเองยิ่งมีความหมาย และดีใจเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ที่ได้ทำให้พ่อแม่พี่น้องที่มาให้กำลังใจแบบติดขอบสนามได้ดีใจ และภูมิใจไปกับพวกเรา และอยากให้แชมป์ของพวกเรานี้ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ที่อยากจะเป็นนักพากย์แบบเราด้วย
ขณะที่นายจักรพันธ์ กาญจนรุ่ง เจ้าของตำแหน่งชนะเลิศถ้วยพระราชทานฯ ประเภทบุคคล กล่าวว่า รู้สึกภาคภูมิใจ และจะประสบการณ์ความรู้ไปต่อยอดสู่การทำงานสายนักพากย์ พิธีกร ซึ่งถือเป็นชีวิตจิตใจของตน เป็นสิ่งที่ชื่นชอบ และจะนำไปถ่ายทอดให้กับเด็กรุ่นหลังที่มีความสนใจในการพากย์เรือและการทำงานด้านการพูดต่อไป เพื่อโอกาสในการมีอนาคตที่ดีและเพื่อพิสูจน์ให้คนทั่วไปเห็นว่า ทุกอาชีพบนโลกนี้มีความหลากหลาย มีความสำคัญ มีเกียรติมีศักดิ์ศรีไม่แพ้กัน สามารถทำเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ ที่สำคัญคือกิจกรรมนี้ยังช่วยให้เด็กและเยาวชนได้ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยง ด้วยการใช้เวลามาทำกิจกรรมสร้างสรรค์และมีประโยชน์ ดังนั้นตนขอให้เพื่อนๆ ไม่ว่าจะรักจะชอบอะไร ก็ขอให้เต็มที่กับสิ่งนั้นและเราจะสามารถเป็นหนึ่งได้โดยไม่ต้องพึ่งเหล้าเบียร์และปัจจัยเสี่ยง
อนึ่ง ผลประกวดนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 4 รางวัลชนะเลิศนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข ประเภทบุคคล ได้แก่ นายจักรพันธ์ กาญจนรุ่ง อายุ 17 ปี นักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข จากจังหวัดชุมพร ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานฯ พร้อมทุนการศึกษา 10,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับทุนการศึกษา 7,000 บาท ได้แก่ นายนันทกานต์ พรมศรี อายุ 22 ปี นักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข จากจังหวัดสุรินทร์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับทุนการศึกษา 5,000 บาท ได้แก่ นายพชร กันฑะวงศ์ อายุ 19 ปี นักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข จากจังหวัดน่าน รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้รับทุนการศึกษา 3,000 บาท ได้แก่ นายศุภกฤต ปานปิน อายุ 16 ปี นักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข จากจังหวัดชุมพร
ส่วนผู้ชนะการแข่งขันประเภททีม ได้ถ้วยรางวัลพระราชทานฯ พร้อมทุนการศึกษา 25,000 บาท คือทีมนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุขจากภาคใต้ ได้แก่ ด.ช.เป็นหนึ่ง พรหมสถิตย์ อายุ 11 ปี ด.ช.ดนุพร สุวรรณแย้ม อายุ 14 ปี นายวรกันต์ ทองรอด อายุ 16 ปี ด.ช.ณัฐวัตร มณีนวล อายุ 13 ปี นายชนะศักดิ์ สอนอินทร์ อายุ 20 ปี นายอัมรินทร์ ชาวโพธิ์ อายุ 18 ปี นายกิตติธัช ลีมบุตร อายุ16 ปี น.ส.ปิยพัชร ธรรมโชติ อายุ 16 ปี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุขจากภาคเหนือ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีมนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุขจากภาคกลาง และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ ทีมนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุขจากภาคอีสาน