ลุ้นครม. ไฟเขียว กฎกระทรวง ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ 5 พ.ย.นี้ คลอดศูนย์ฝึกฯ ภาคสังคม-เอกชน เปิดทางบ้านกาญจนาฯ ทำหน้าที่เจียระไนเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาดคืนสู่สังคม “นักวิชาการ-อดีตศิษย์เก่าบ้านกาญ” ขอบคุณ “ทวี สอดส่อง” ผลักดันจริงจัง หวังโอกาสเข้าพบเพื่อขอบคุณ
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2567- นางทิชา ณ นคร ได้โพสข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวเมื่อเร็วๆ นี้ ใจความสรุปได้ว่า เมื่อปี 2543 เกิดเหตุการณ์เยาวชนที่ถูกควบคุมตัว 1,600 คน ทำลายสถานควบคุมและหลบหนี ซึ่งตนเข้ามาร่วมแสวงหาข้อเท็จจริง จนปี 2546 ตนเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการคนนอกของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก จนถึงปี 2556 ค้นพบ นวัตกรรมลดการกระทำผิดซ้ำ ต้องมาพร้อมวัฒนธรรมปฏิเสธระบบอำนาจนิยม แต่ไม่สามารถส่งนวัตกรรมนี้ให้กับหน่วยงานรัฐได้ จึงต้องหาเส้นทางใหม่ คือการออกกฎกระทรวงตามมาตรา 55 ของพ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ซึ่งเจตนารมณ์คือให้ กรมพินิจฯ สามารถออกใบอนุญาตหรือยกเลิกใบอนุญาตให้นิติบุคคล ภาคสังคม ที่ขอจัดตั้งสถานดูแล ควบคุมเพื่อทำกิจกรรม ฟื้นฟู เยียวยา เจียระไน ฯลฯ เด็กและเยาวชนที่ถูกพิพากษาได้ แต่ต้องเป็นไปตามที่กฎกระทรวงกำหนด
นางทิชา กล่าวต่อว่า การผลักดันกฎหมายดังกล่าวมีมาตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2561 องค์กรด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว กว่า 60 องค์กรได้ทำจดหมายถึงรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้สนับสนุนและขอให้ออกกฎกระทรวงมาตรา 55 โดยมีตัวแทนรุ่นพี่บ้านกาญจนาภิเษกที่คืนเรือนไปนานแล้วนำหนังสือไปยื่นกับรองปลัดยุติธรรม รองอธิบดีกรมพินิจฯ จากนั้นมีการล้มลุกคลุกคลาน มีพัฒนากระบวนการมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2565 พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจ หยิบมาปัดฝุ่นผลักดันให้มีการออกกฎกระทรวง มาตรา 55 ล่าสุดพ.ต.ท. ประวุธ วงศ์สีนิล เข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมพินิจเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ได้เชิญตน เข้ามาพูดคุย และหลังจากนั้นมีกลุ่มที่ผ่านการอบรมจากบ้านกาญจนา หรือกลุ่มผู้ถูกเจียระไน และเครือข่ายที่ขับเคลื่อนประเด็นเด็ก เยาวชน และครอบครัว ได้เข้าพบพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) อภิปรายในสภา
“แม้ว่า วันนี้กรมพินิจ กระทรวงยุติธรรม จะมีการออกระเบียบยกเลิกตำแหน่งผู้อำนวยการคนนอกของบ้านกาญจนาฯ ซึ่งต้องขอขอบคุณเครือข่ายภาคประชาชน รวมถึงกลุ่มผู้ถูกเจียรนัย ที่ออกแถลงการณ์คัดค้านเรื่องนี้ ควบคู่กับความพยายามในการออกกฎกระทรวงตามมาตรา 55 ต่อไป โดยมีการมาหารือร่วมกับป้า ซึ่งล่าสุด มีข่าวว่า ในวันอังคารที่ 5 พ.ย. กฎกระทรวง ตามมาตรา 55 จะเข้า ครม.” นางทิชากล่าว
ด้าน ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณะบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้โพสเฟสบุ๊กว่า ยินดีที่ได้เห็นความคืบหน้าของกฎกระทรวงมาตรา 55 ที่จะเข้า ครม. ในวันที่ 5 พฤศจิกายน นี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่จะเปิดโอกาสให้ภาคสังคมได้มีส่วนร่วมในการดูแล ฟื้นฟู และเยียวยาเยาวชนที่กระทำความผิด จากประสบการณ์ 20 ปีของบ้านกาญจนาภิเษก ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการเปลี่ยนผ่านจากระบบอำนาจนิยมสู่อำนาจร่วม และการดูแลเยาวชนผู้กระทำความผิดด้วยนวัตกรรมที่เหมาะสม ช่วยลดการทำผิดซ้ำได้สำเร็จถึง 90-95% เป็นต้นแบบที่แสดงให้เห็นว่า การทำงานกับเยาวชนที่หลงผิดนั้นเป็นไปได้ และต้องทำให้เห็น ตั้งแต่หลักคิด วิธีการ และการปฏิบัติจริง บ้านกาญจนาภิเษกได้พิสูจน์แล้วว่า แม้เยาวชนจะก้าวพลาดเข้าสู่เส้นทางมืด แต่ด้วยการดูแลที่ถูกต้อง เข้าใจ และให้โอกาส พวกเขาสามารถกลับมาเป็นพลังบวกให้กับสังคมได้ และขอบคุณ พล.ต.อ.ทวี ที่ผลักดันเรื่องนี้ หวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงระบบการดูแลเยาวชนของไทยอย่างยั่งยืน
ขณะที่ นายอภิรัฐ สุดสาย ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ถูกเจียระไน อดีตเยาวชนฯ บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ตนคือหนึ่งในผู้ร่วมขับเคลื่อนผลักดันกฎกระทรวง ตามมาตรา 55 มาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งจะมีผลทำให้ศูนย์ฝึกฯบ้านกาญจนาภิเษก มีสถานะเป็นภาคสังคมหรือเอกชน ที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพินิจฯ ดำเนินการได้โดยได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ เป็นความพยายามขับเคลื่อนกันมายาวนาน จนตอนนี้กลับมามีความหวังอีกครั้งจากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้โอกาสรับฟังเราอย่างจริงจัง มีการลงพื้นที่จริง ทำให้คนจำนวนมากได้รับรู้เรื่องราวของบ้านกาญนาฯ หลังจากที่ผ่านมาแทบไม่มีรัฐมนตรีคนไหนลงพื้นที่มาดูพวกเยาวชนเลย ต้องยอมรับและขอบคุณในความจริงใจมุ่งมั่น โดยเฉพาะการที่ปักธงให้เรื่องนี้จบในยุคของพ.ต.อ.ทวี แสดงว่าท่านเอาจริง
“ท่านรัฐมนตรีฯ พูดเสมอว่าบ้านกาญนาฯ เป็นศูนย์ฝึกที่ดีที่สุดและต้องขยายผลต่อไปอีก ท่านยังให้ความสำคัญในการเอาคนที่ผ่านพ้นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างบ้านสร้างเมือง สร้างสังคมให้ดีขึ้น เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกใจฟู มีคุณค่า แต่ในรายละเอียดหลังจากมีมติ ครม. แล้วก็ต้องติดตามกันต่ออย่างใกล้ชิด และหากเรื่องนี้สำเร็จได้จริง เราหารือกันว่า อยากขอโอกาสท่านให้พวกเราได้เข้าไปขอบคุณและมีข้อเสนอเพิ่มเติมจากพวกเรา ซึ่งคือผู้ที่ผ่านพ้นแล้วและอยากปวารณาตัวเองเป็นพลเมืองตื่นรู้ ได้ทำเรื่องดีๆ ตอบแทนสังคม” นายอภิรัฐ กล่าว